"เรื่องธรรมะ มันไม่มีอะไรจะพูด" เป็นคำกล่าวของ อาจารย์อัญชลี ไทยานนท์ ทุกครั้งที่ทางกลุ่มจิตต์เกษมพยายามขอร้องให้อาจารย์อธิบายธรรมะลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ อาจารย์จะตอบว่า “ธรรมะไม่ใช่เรื่องที่จะมาอธิบาย เพราะมันเป็นอารมณ์ เป็นสภาวะ มันอยู่เหนือคำพูด คำอธิบาย แต่ถ้าปฏิบัติแล้วมีปัญหา มาถามได้ อาจารย์จะแนะนำให้ อยู่ๆ จะให้พูด ไม่รู้จะพูดอะไร”

หากท่านผู้ใด มีความสงสัย ไม่เข้าใจในคำสอนและวิธีปฏิบัติ ตามแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ท่านสามารถส่งคำถามเข้ามาได้ ทางเว็บไซต์จะนำคำถามของท่านส่งต่อให้อาจารย์ เมื่อได้รับแล้วจะนำมาโพสต์ให้ทุกท่านได้อ่าน ผ่านทางเว็บไซต์

ส่งคำถามคลิกที่นี่

  • 34. รู้สึกว่าตัวเองลืมตาโพลงทั้งที่ยังหลับอยู่
    คำถาม :
    เมื่อคืนหนูกำลังหลับอยู่ดีๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองลืมตาโพลงทั้งที่ยังหลับอยู่ค่ะ
    ตอบ :
    ดิฉันเคยบอกให้แก้ไขวิธีปฏิบัติเมื่อ2-3เดือนก่อน อาการแปลกๆก็หายไป และทำความรู้สึกตัวได้ดีไม่ใช่หรือ การปฏิบัติเจริญสติ ทำให้มีความเป็นปกติ ไม่ใช่เป็นอย่างนี้ เคยพูดให้ฟังแล้วว่าจิตใจมันไวมากๆ และลึกล้ำเกินกว่าความคิดจะไปถึงได้ ยิ่งคนที่ชอบคิด-วิเคราะห์จิตใจตัวเองก่อนที่จะเห็น จะรู้ จะเข้าใจมันด้วยปัญญาจะไม่มีวันได้คำตอบที่ถูกต้องแท้จริงเลย มีแต่จะทำให้ฟุ้งซ่าน ตอนนี้พักการปฏิบัติสัก1-2 วัน อยากไปไหนก็ไป ว่างๆก็ไปนั่งปล่อยใจให้สบายๆ มองไปที่ท้องฟ้า มันจะได้หายเครียด ถ้าจะให้แนะนำก็คงพูดเหมือนเดิม กลับไปอ่านคำแนะนำเก่าอีกครั้งนะคะ อย่าทำให้มันเครียด
  • 33. รายงานการปฏิบัติเจริญสติ
    คำถาม :
    หนูทำความรู้สึกตัวด้วยการนั่งสร้างจังหวะสลับการเดินจงกรมวันละหนึ่งถึงสามชั่วโมงและ พยายามรู้สึกตัวต่อเนื่องให้มากที่สุดระหว่างวัน แต่ก็ยังเผลอบ่อยค่ะ เมื่อรู้สึกตัวว่า เผลอ คิดฟุ้งซ่านหรือมีอารมณ์โกรธไปแล้วก็จะรีบกลับมาทำความรู้สึกตัวต่อทันที และไม่สนใจเรื่อง "ผู้รู้" หรือ "ผู้ดู" อีกแล้ว เอาแค่รู้เฉยๆเท่านั้นค่ะ
    ตอบ :
    ยินดีมากที่ทราบว่าคุณเข้าใจหลักการปฏิบัติพอสมควรแล้ว ขอแนะนำให้อ่านบท “ทวนกระแสความคิด” ในหนังสือทวนกระแสความคิด เมื่อเห็นความคิดแล้วจงรีบ ทิ้งทันที คิดปุ๊บ ตัดปั๊บ ไม่ต้องสนใจว่าคิดอะไร เป็นอารมณ์โลภหรือโกรธไม่ต้อง วิเคราะห์วิจารณ์มัน รีบตัดทิ้งไปทันทีที่รู้มัน แล้วรีบกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัวให้ ต่อเนื่องนานที่สุด ที่สำคัญคือ อย่าคอยจ้องดูว่ามันจะคิดหรือยัง และอย่าห้ามความคิด ปล่อยให้จิตใจดำเนินไปตามธรรมชาติ ของมัน เมื่อสติเห็นมัน ความคิดหรืออารมณ์นั้น จะหยุดหรือหายไปเองทันที ไม่เรียกว่า เกิด-ดับ เรียกว่ามันคิด-มันหยุดคิดให้ตั้งใจทำ ต่อไปจะเกิดปัญญา รู้ เห็น เข้าใจธรรมชาติของชีวิต-จิตใจ และสรรพสิ่งทั้งหลายตาม ความเป็นจริง ไปให้พ้นโลกียะ ให้ได้พบโลกุตตระธรรม อย่าหยุดปฏิบัติเพราะกำลัง ไปได้ดี ถ้าหยุด จะกลับมาเริ่มทำความรู้สึกตัวใหม่ยากมาก
  • 32. ความรู้สึกตัว เป็น "ผู้ดู" ความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นใช่ไหมคะ
    คำถาม :
    ความรู้สึกตัว เป็น "ผู้ดู" ความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นใช่ไหมคะ
    ตอบ :
    จากประสบการณ์ที่ดิฉันได้ปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียน ไม่มีผู้ดู จึงไม่ต้องสนใจเรื่องผู้ดู หรือผู้ถูกดู ให้เข้าใจเรื่องสติ-ความรู้สึกตัว กับ ความคิดเท่านั้น เมื่อมีสติ-ความรู้สึกตัว มันจะรู้กาย-รู้ใจ และมันจะเห็นความคิดทุกครั้ง

    ความคิดเกิดจากการปรุงแต่ง เป็นกลไกของจิตใจที่ทำให้มันนึกมันคิด ความคิดเช่นนี้เป็นทุกข์ แต่ถ้าคิดด้วยสติมันจะไม่ทุกข์

    ขอแนะนำให้อ่านบทความในหนังสือ "ทวนกระแสความคิด" ให้ละเอียด จะเข้าใจการปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียนดีขึ้น อ่านจาก www.paramatthasacca.com ก็ได้และควรอ่านใน menu ถาม-ตอบ ด้วย ถ้าไม่มีความเข้าใจเป็นพื้นแล้ว คุณจะสงสัยมากๆในเรื่องการปฏิบัติ ต้องอ่าน-ฟังหลวงพ่อสอนมากๆ
  • 31. ถามความหมายของคำว่าทวนอารมณ์
    คำถาม :
    คำว่าทวนอารมณ์กับทวนอารมณ์รูปนาม ของหลวงพ่อเทียนหมายความว่าอะไรครับ ผมฟังซีดีแล้วไม่เข้าใจครับทวนอารมณ์หมายความว่าอะไร
    ตอบ :
    การปฏิบัติเจริญสติแบบเคลื่อนไหวตามแนวหลวงพ่อเทียนจะต้องจะมีสัญญาและอารมณ์ เมื่อรู้จักความรู้สึกตัวก็เรียกว่ามีสัญญา เมื่อปฏิบัติจนจิตใจตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วจะเกิดอารมณ์ เห็น รู้ เข้าใจ สรรพสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่ใช่โดยการพิจารณา เมื่ออารมณ์เกิดแล้วจะมีสัญญาที่จดจำอารมณ์นี้ได้ตลอดไป ไม่มีวันหลงลืม
    การทวนอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์รูป-นาม หรือ อารมณ์นามรูป ก็เพื่อให้เราแนบแน่นอยู่กับอารมณ์นั้นเมื่อยามที่เรามีปัญหาจากการเกิดปิติ แล้วลืมตัว ไปติดอยู่กับปิติหรือสภาวะ โดยเฉพาะปิติขั้นสุดท้ายจะเป็นโทษอย่างมาก หลวงพ่อจึงไม่ให้ติดปิติหรือสภาวะนั้น แต่ให้อยู่กับอารมณ์วิปัสสนา และให้ทวนอารมณ์วิปัสสนาตั้งแต่อารมณ์รูป-นาม (ขั้นต้น) ไปจนถึงอารมณ์นามรูปทุกขั้นตอน อาการปิติจะหายไป และจะเป็นปกติ
  • 30. การปฏิบัติรู้สึกกายเคลื่อนไหวกับรู้สึกลมหายใจ
    คำถาม :
    ตอนนี้ผมปฏิบัติตามแนวหลวงพ่อเทียน(เคยไปฝึกที่มูลนิธิหลวงพ่อเทียน)กับตามแนวคณะระลึกรู้สึกใจที่คุณพ่อชวนไปปฏิบัติซึ่งสอนให้รู้สึกที่ปลายสุดลมหายใจ แล้วให้อยู่ตรงความรู้สึกไม่ต้องตามลมหายใจ หลังจากผมได้ปฏิบัติทั้งสองแนวทางแล้ว ผมรู้สึกว่ารู้สึกที่กายเคลื่อนไหวเป็นธรรมชาติมากกว่า แต่ก็ฟุ้งซ่านได้ง่ายกว่า แต่รู้สึกที่ปลายลมแล้วเฝ้าความรู้สึกไว้ จะสงบกว่า ทั้งสองวิธีเห็นความคิดได้เหมือนกัน แต่วิธีหลวงพ่อเทียนผมรู้สึกว่าเป็นการเห็นความคิดแบบเห็นเอง เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องไปยุ่งไปทำอะไรมาก แต่วิธีเฝ้าความรู้สึกเหมือนเราทำอะไรบางอย่างอยู่ แล้วก็เห็นความคิดอื่นที่เข้ามาแทรกแซง การเห็นความคิดที่ถูกต้องควรเป็นแบบไหนครับ
    ตอบ :
    หลวงพ่อเทียนให้ทำความรู้สึกตัวแบบสบายๆ อย่าเอาจริงเอาจัง อย่าเพ่ง อย่าจ้อง ไม่ต้องคอยเฝ้าระวังว่ามันจะคิดหรือยัง เพราะจะกลายเป็นว่าเราไม่ปล่อยให้กลไกของจิตใจทำงานตามธรรมชาติของมัน ต้องปล่อยให้มันคิด ส่วนตัวเรามีหน้าที่ฝึกฝนตนเองให้มีสติ-ความรู้สึกตัวคล่องแคล่ว ว่องไว แล้วสติจะรู้ทันจิตใจที่มันนึก-มันคิดได้รวดเร็วทุกครั้ง ใจมันไหวเมื่อไรจะรู้ทันที มันเป็นสูตรสำเร็จ เพราะความรู้สึกตัวจะทำหน้าที่ของมันเอง สติจะเห็นความคิดเอง แล้วความคิดก็จะหยุดลงเอง เพราะสติเข้ามาแทนที่ เราไม่ต้องทำอะไรเลย ใครชอบอานาปานสติก็ทำไป ใครชอบการเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียนก็ศึกษาวิธีและเทคนิคให้เข้าใจ จะได้ไม่ทำผิดพลาด

    ขอเตือนว่าทุกคนต้องเริ่มต้นเข้าใจอารมณ์รูป-นามก่อน ไม่ใช่เริ่มต้นก็หัดดูความคิดเลย ความรู้สึกตัวต้องคล่องแคล่วจึงจะเห็นความคิดได้ทัน
  • 29. การรู้ลมหายใจแล้วเห็นความคิดต่างกับการรู้ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างไร
    คำถาม :
    ทำอาณาปาณสติดูลมหายใจเข้าออกแล้วเห็นความคิดต่างกับการเคลื่อนไหวร่างกายแล้วเห็นความคิดอย่างไร ต่างก็เป็นฐานกายเหมือนกัน
    ตอบ :
    การปฏิบัติอานาปานสติและการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวเป็นกายานุปัสสนาเช่นเดียวกัน แต่ดิฉันไม่เคยฝึกอานาปานสติ ไม่ทราบว่าเทคนิคเป็นอย่างไร ถ้าปฏิบัติอานาปานสติแล้วมีสติ-สัมปชัญญะ คือมีความรู้สึกตัวขณะหายใจเข้า-หายใจออกก็เรียกว่ามีสติ ถ้าคุณสามารถเห็นความคิดได้ก็เป็นการดี
    ส่วนการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนั้น หลวงพ่อเทียนไม่ได้ให้รู้สึกตัวเฉพาะตอนยกมือและเดินจงกรมเท่านั้นแม้จะกะพริบตา กลืนน้ำลาย หรือหายใจเข้า-ออก ท่านก็ให้รู้สึกด้วย แต่ท่านไม่ให้ไปดูลมหายใจหรือไปรู้ลม ท่านให้แค่รู้สึกเท่านั้น ขอแนะนำให้อ่านคำสอนและวิธีปฏิบัติของหลวงพ่อเทียนให้เข้าใจ เพื่อจะได้นำไปเปรียบกับวิธีปฏิบัติที่คุณทำอยู่ แล้วคุณจะตอบตัวเองได้ว่าต่างกันหรือไม่
  • 28. ฝึกมากๆ การเผลอเข้าไปอยู่ในความคิดจะสั้นลง จนกระทั่งรู้ทันเมื่อความคิดเกิด
    คำถาม :
    เวลาสร้างจังหวะ ๑๕ ท่า แล้วมีสติรู้ว่าคิดจึงกลับมาอยู่กับมือที่กำลังเคลื่อนไหวตามรูปแบบการสร้างจังหวะ เมื่อฝึกมากเข้าๆการเผลอเข้าไปอยู่ในความคิดจะสั้นลง สั้นลง จนกระทั่งทันเมื่อความคิดเกิด อยากเรียนถามอาจารย์ว่าดิฉันเข้าใจถูกต้องหรือไม่
    ตอบ :
    ถ้ามีความรู้สึกตัวหลวงพ่อเทียนเรียกว่ามีสติ ถ้าไม่มีความรู้สึกตัวไม่เรียกว่ามีสติ เช่นคนที่กำลังเดิน เขาก็รู้ว่าเขาเดินอยู่ แต่ไม่รู้สึกตัวในการเคลื่อนไหว อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติ หลวงพ่อจึงให้เจริญสติให้ มีความรู้สึกตัว ต้องรู้สึกตัวต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาหรือนานที่สุดที่จะนานได้ ต้องมีสติรู้สึกตัวตลอดเวลา
    ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีความโลภเกิดขึ้น สติจะเห็นได้ทันท่วงที ความคิดจะไม่มีกำลังดึงเราไป เพราะกระแสความคิดถูกตัดตอนโดยสติ-ความรู้สึกตัว

    ในกรณีนี้ที่บอกว่าการเผลอเข้าไปในความคิดสั้นลง จนกระทั่งรู้ทันเมื่อความคิดเกิด คุณคงเข้าใจผิดอะไรสักอย่าง คงจะพยายามเฝ้าดูความคิดมากกว่ารู้สึกตัว เพราะถ้ารู้ทันเมื่อความคิดเกิดได้จริงๆ วันนี้คุณคงไม่ทุกข์แล้ว
  • 27. ประยุกต์การปฏิบัติตามแนวหลวงพ่อเทียนกับการทำงานในสำนักงานได้อย่างไรบ้าง
    คำถาม :
    ผมจะประยุกต์การปฏิบัติสายหลวงพ่อเทียนกับการทำงานในสำนักงานได้อย่างไรบ้างเพื่อก่อให้เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติครับ
    ตอบ :
    การเจริญสติให้มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอหรือให้ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ต้องไม่พูดไม่คุย เพราะการพูดจะทำให้ความรู้สึกตัวหายไป ถ้าต้องใช้ความคิดในการงาน ถึงแม้จะไม่ใช่ความคิดปรุงแต่ง (เพราะคุณอาจคิดด้วยสติ รู้ว่าตัวเองคิดอะไร) แต่ความรู้สึกตัวไม่มี เพราะมันจะไปรู้อยู่กับเรื่องที่กำลังคิด การให้รู้สึกตัวในการเคลื่อนไหวอยู่เสมออย่างต่อเนื่องจึงเหมาะกับการทำงานที่ไม่ต้องพูดคุย หรือใช้ความคิด ในกรณีนี้ขอแนะนำให้หัดทำความรู้สึกตัวให้ต่อเนื่องได้นานๆเสียก่อน การที่มีความรู้สึกตัวเรียกว่ามีสติ ถ้ามีสติรู้กาย-รู้ใจได้เสมอแล้ว เวลาใช้ความคิดก็ให้คิดด้วยสติ อย่าลืมตัวหรือหลง เวลาพูดก็ให้มีสติรู้ตัวว่ากำลังพูดอะไร เมื่อไม่ต้องพูดไม่ต้องคิดแล้ว ก็ให้มารู้อยู่ที่การเคลื่อนไหวของกาย เช่นการเขียน/พิมพ์หนังสือ การเดินไป เดินมา การหยิบของ การทานอาหาร และอื่นๆ ถ้าทำได้อย่างนี้ ความคิดปรุงแต่งจะไม่ค่อยมี เพราะมีสติเห็น-รู้กายและใจอยู่เสมอ
  • 26. สร้างจังหวะอย่างไรไม่ให้เพ่ง
    คำถาม :
    ทุกครั้งที่สร้างจังหวะ จะทำด้วยความตั้งใจมาก พอทำๆไปจะรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมชาติเลย ไม่ทราบจะแก้ไขอย่างไรดีคะ
    ตอบ :
    ทำใจเฉยๆ สบายๆ อย่าเอาจริงเอาจัง อย่าเอาใจไปกำหนดหรือเพ่งที่มือ-เท้าขณะเคลื่อนไหว ให้รู้สึกแผ่วๆ และทำช้าๆ มองไปไกลๆ แต่ไม่ต้องจับภาพใดๆ
  • 25. อาจารย์คิดอย่างไรคะกับการรักษาศีลห้า
    คำถาม :
    การที่หลวงพ่อบอกว่าไม่ต้องรักษาศีลห้า ให้ปฏิบัติไปจนกระทั่งศีลเกิดขึ้นเอง คือไม่ต้องรักษาศีลห้าก็ได้ แต่ตอนนี้คนส่วนมากยังไปไม่ถึงจุดนั้น ก็เกิดปัญหาว่าทำตัวไม่เหมาะสม พูดปด หรือ หลอกลวงคน อาจารย์คิดว่าอย่างไรคะ
    ตอบ :
    ถ้าคนเรามีสติ-ความรู้สึกตัว เห็นจิตใจตัวเองอยู่ตลอดเวลา ย่อมรู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก สิ่งใดควรพูด ควรทำ สิ่งใดไม่ควรพูด ไม่ควรทำ หลวงพ่อจึงสอนว่าสติ-ความรู้สึกตัวต้องต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ถ้ายิ่งปฏิบัติไปจนรู้อารมณ์ (วิปัสสนา) สูงขึ้นจนถึงขั้น ศีล ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ ย่อมหมายถึงว่าผู้นั้นจะต้องมีความปกติในจิตใจมากกว่าบุคคลทั่วๆ ไป แต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้นได้ ไม่ใช่ง่าย เพราะจะต้องมีสติ-ความรู้สึกตัวเกือบตลอดเวลา และสามารถตัดความคิดปรุงแต่งได้เร็ว
    หลวงพ่อบอกว่าไม่ต้องรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ แต่ขอให้รักษาศีลใจเพียงข้อเดียวเท่านั้น ถ้าคิดให้ดีๆ ศีลใจเพียงข้อเดียวของหลวงพ่อนั้นยากกว่ารักษาศีล ๒๒๗ ข้อเสียอีก
    ดิฉันได้ยินหลวงพ่อสอนว่าผู้ปฏิบัติธรรมต้องเป็นคนดี ต้องพัฒนาตัวเองทั้งการกระทำและคำพูด มิฉะนั้นจะปฏิบัติธรรมไม่ได้ผล
    ส่วนคนที่ปฏิบัติธรรมแล้วยังทำตัวไม่เหมาะสม เช่น พูดเท็จ หลอกลวง ขโมย ฯลฯ จะอ้างว่าหลวงพ่อเทียนบอกว่าไม่ต้องรักษาศีล ก็ต้องถือว่าผู้นั้นไม่ได้รับเอาคำสอนของหลวงพ่อมาทั้งหมด อย่างนี้ไม่ใช่ลูกศิษย์หลวงพ่อเทียน
  • 24. เพิ่งหัดทำความรู้สึกตัว ทำอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่
    คำถาม :
    ดิฉันเพิ่งหัดทำความรู้สึกตัวโดยมีพี่คนหนึ่งสอนให้ทำ ดิฉันทำความรู้สึกตัวโดยการยกมือขึ้นช้าๆ แล้วหยุด จากนั้นก็เอามือลง แล้วหยุด แล้วก็ยกมืออีกข้างขึ้นช้าๆ ใหม่อีกสลับซ้ายขวา ยังไม่ได้สร้างจังหวะมือเป็นหลายๆ ท่าแบบที่หลวงพ่อเทียนสอน ดิฉันสงสัยว่า ดิฉันควรทำใจอย่างไรคะ พี่เค้าบอกว่าให้ทำใจสบายๆ ให้รู้สึกถึงมือ-แขนที่เคลื่อน-หยุด เมื่อไหร่ที่คิดไปเรื่องอื่น ก็ให้หยุดคิด แล้วกลับมารู้สึกที่มือ-แขนที่เคลื่อน-หยุดต่อไป ทำอย่างนี้จะถูกต้องมั๊ยคะ มีอะไรต้องแก้หรือต้องทำอะไรเพิ่มเติมอีกมั๊ยคะ
    ตอบ :
    เขาแนะนำถูกแล้ว แต่สำหรับคนเริ่มต้นปฏิบัติ ขอให้ตั้งใจให้อยู่กับความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่องอย่างเดียว ไม่ต้องสนใจอะไร ถ้าความรู้สึกตัวขาดตอนมันก็จะคิด พอกลับมามีสติ-ความรู้สึกตัวต่อเนื่องอีกครั้ง ความคิดจะหายไปเอง หลวงพ่อบอกว่า “คิดปุ๊บ เห็นปั๊บ” “คิดปุ๊บ ตัดปั๊บ”
  • 23. ความรู้จากตำรากับความรู้ด้วยปัญญาต่างกันหรือไม่
    คำถาม :
    คนที่รู้จากตำราต่างจากคนที่รู้ด้วยปัญญาอย่างไร
    ตอบ :
    คนที่ฟังอาจารย์มากๆ หรืออ่านตำรามากๆ จะมีความรู้จากความจำ หลวงพ่อเทียนเรียกว่าเป็นการรู้จำ ไม่ใช่รู้แจ้ง รู้จริง ถ้าถูกซักถามมากๆ บางทีก็จน ตอบไม่ได้ หรือเริ่มพูดจาสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก ส่วนคนที่รู้ด้วยปัญญา เป็นการรู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง จะมีสัญญาแนบแน่นกับความรู้ที่ตัวเองเห็น รู้ เข้าใจชัดเจน เป็นขั้นเป็นตอน ไม่มีการหลงลืมเลยตลอดชีวิต และนำความรู้ ความเข้าใจนี้มาแก้ทุกข์ของตนเองได้
  • 22. รู้คิดกับเห็นคิด
    คำถาม :
    รู้คิดกับเห็นคิดต่างกันอย่างไร
    ตอบ :
    รู้คิด คือคิดไปเรื่อยๆ โดนความคิดลากไป หรือที่หลวงพ่อพูดว่าเข้าไปในความคิด รู้ว่าตัวเองคิดแต่เพราะไม่มีสติ-ความรู้สึกตัว จึงไม่เห็นความคิด ถ้ามีความรู้สึกตัวที่ว่องไวจะเห็นความคิดได้ทัน และความคิดจะหยุดหรือหายไปทันที
  • 21. เชือกขาด กับอาการเกิด-ดับ เหมือนกันหรือไม่
    คำถาม :
    เชือกขาดกับอาการเกิด-ดับของหลวงพ่อเทียนเป็นเรื่องเดียวกันใช่ไหม
    ตอบ :
    อาการเกิด-ดับเป็นสภาวะธรรม เป็นปรมัตถ์อาการหรือปรมัตถธรรมขั้นสูงสุด ส่วนคำว่าเชือกขาดของหลวงพ่อเทียน เป็นคำอุปมาที่ท่านจะอธิบายเรื่องจิตใจกลับเข้าสู่สภาพเดิมของมัน เพราะอายตนะภายนอก อายตนะภายในติดต่อกันไม่ได้อีกต่อไป
  • 20. วิธีแก้อาการง่วง
    คำถาม :
    ช่วยชี้แนะวิธีแก้อาการง่วงจากการเจริญสติให้ด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ
    ตอบ :
    ขณะยกมือสร้างจังหวะ ควรรู้อยู่ที่การเคลื่อนไหวทุกจังหวะ ไม่ไช่ยกมือไปตามรูปแบบแต่ไม่รู้สึกตัวเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นจะเบื่อและง่วงงมาก แต่ถ้ารู้สึกตัวได้มากและติดต่อกันเป็นลูกโซ่ได้ก็จะไม่ง่วง ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆแต่ต้องรู้สึกตัวด้วย แล้วพยายามต่อไป อย่าให้จิตใจวอกแวก ต้องตั้งใจทำให้รู้สึกตัวจริงๆ
  • 19. มีปัญหาที่ไหล่ ใช้วิธีนับลูกประคำแทนได้ไหม
    คำถาม :
    ผมมีปัญหาเกี่ยวกับหัวไหล่ ไม่สามารถยกมือสร้างจังหวะนานๆได้ อยากเรียนถามอาจารย์ว่า ผมจะใช้วิธีนับลูกประคำ แล้วสังเกตความรู้สึกของการเคลื่อนไหวที่นิ้ว สลับกับการเดินจงกรมจะได้หรือไม่ครับ ขอบคุณครับ
    ตอบ :
    ถ้ามีปัญหาที่ไหล่ ให้สร้างจังหวะในท่านอนก็ได้แต่ห้ามหลับตา อย่าโฟกัสที่ภาพใดทั้งสิ้น คนที่เพิ่งเริ่มหัดเจริญสติควรเคลื่อนมือยาวๆช้าๆ จะรู้สึกตัวได้ง่าย อย่านับลูกประคำเลย ถ้ารู้สึกตัวได้คล่องแล้ว ให้ลองกำ-เหยียดมือหรือพลิกมือขึ้น-ลง (มือเดียว) เวลาที่ไม่ได้เจริญสติอย่างเต็มรูปแบบ และทำให้เป็นจังหวะ (เคลื่อน-หยุด)
  • 18. ทำไมต้องสร้างจังหวะ
    คำถาม :
    หลวงพ่อเทียนคิดวิธียกมือสร้างจังหวะ ๑๕ ท่าขึ้นมาเพื่ออะไร
    ตอบ :
    หลวงพ่อมีวัตถุประสงค์เพื่อจะได้ฝึกให้มีความรู้สึกตัว เมื่อมันเคลื่อน มันไหว มันหยุดก็ให้มีความรู้สึกตัวและรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะธรรมดาคนเราไม่ได้อยู่ในอิริยาบถเดียว ต้องมีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ
  • 17. ไม่ทำเป็นจังหวะได้ไหม
    คำถาม :
    การทำความรู้สึกตัวตามวิธีของหลวงพ่อ ทำไมจึงต้องทำเป็นจังหวะ ถ้าทำความรู้สึกตัวเฉยๆ ทำติดต่อกันไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำเป็นจังหวะ จะได้ผลเหมือนกันหรือไม่
    ตอบ :
    ไม่มีอะไรเคลื่อนโดยไม่มีการหยุด ดังนั้น เราต้องรู้สึกตัวทั้งตอนเคลื่อน และตอนหยุดก็ต้องรู้ ไม่ใช่รู้เฉพาะตอนเคลื่อนแต่ตอนหยุดไม่รู้ นั่นถือว่าไม่มีสติรู้ครบถ้วน
  • 16. จะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเป็นรูป เป็นนาม
    คำถาม :
    การที่ให้ทำความรู้สึกเฉยๆโดยไม่ต้องกำหนดรู้ว่าเป็นแขน เป็นขา หรือเป็นรูป เป็นนาม เมื่อไม่รู้ว่าอะไรเป็นรูป เป็นนาม ปฏิบัติไปแล้วได้พบกับสภาวะ จะทราบได้อย่างไร
    ตอบ :
    เรื่องรูปเรื่องนาม เมื่อเกิดปัญญาจะรู้เอง ถ้ากำหนดอย่างนั้นมันเป็นสมถะ
  • 15. ความรู้สึกตัวกับปัญญาเป็นสิ่งเดียวกันใช่หรือไม่
    คำถาม :
    หลวงพ่อให้ทำความรู้สึกตัวให้ติดต่อกันเหมือนลูกโซ่ เมื่อปฏิบัติไปจะเกิดญาณปัญญา ความรู้สึกตัวกับปัญญาคือสิ่งเดียวกันใช่หรือไม่
    ตอบ :
    ความรู้สึกตัวคือสติ เมื่อมีสติก็จะมีสมาธิและปัญญาตามมา เมื่อสติมีมากขึ้นๆ ใจมันจะเป็นสมาธิของมันเองบนฐานของมหาสติ ปัญญาจะเกิดขึ้นเองในสมาธินั้น
  • 14. การทำความรู้สึกตัวขณะ ทำ พูด คิด
    คำถาม :
    อยากให้อาจารย์อธิบายเรื่องให้มีความรู้สึกตัวขณะทำ พูด คิด ต้องทำอย่างไร? เพราะเป็นการยากมากสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ บางครั้งเข้าใจว่าให้รู้อาการที่ปากกำลังขยับ มือกำลังทำ อย่างนั้นใช่หรือไม่
    ตอบ :
    ขณะที่คิดต้องรู้ว่ากำลังคิดอะไร ต้องคิดด้วยสติ ขณะที่พูดต้องรู้ว่ากำลังพูดอะไร ต้องพูดด้วยสติ ขณะที่ทำงานทำการหรือเคลื่อนไหว ก็ให้มีสติรู้การเคลื่อนไหวของกาย
  • 13. ทุกข์เพราะอะไร
    คำถาม :
    อาจารย์บอกว่าทุกข์เพราะคิด แต่ตามตำราบอกว่าสาเหตุของทุกข์คือตัณหา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
    ตอบ :
    เมื่อปฏิบัติแล้วจะรู้ว่าเราทุกข์เพราะความคิดปรุงแต่ง โทสะ โลภะ, กิเลส ตัณหา อุปาทานล้วนปรากฏออกมาในรูปของความคิดทั้งสิ้น สมุทัยก็คือตัวคิดนั่นเอง
  • 12. การทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล จำเป็นหรือไม่
    คำถาม :
    ทำไมจึงบอกว่าการปฏิบัติวิธีนี้ไม่เกี่ยวกับการทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล
    ตอบ :
    การทำบุญ ให้ทาน รักษาศีลแก้ทุกข์ไม่ได้ แต่การเจริญสติจะไปถึงที่สุดของทุกข์ได้ อยู่เหนือสุข เหนือทุกข์ได้ คนไม่ทำบุญ ไม่ให้ทาน ไม่รักษาศีล ก็ปฏิบัติได้ รู้ได้ ส่วนคนที่ทำบุญอาจจะยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าบุญคืออะไร การรักษาศีลก็เป็นเพียงศีลสังคมเท่านั้นไม่ได้ทำให้จิตใจเป็นปกติเหมือนผู้ที่ปฏิบัติแล้ว ศีล(ปกติ)มันเกิดขึ้นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่า คนที่ทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล มาปฏิบัติไม่ได้
  • 11. กายในกายเป็นอย่างไร
    คำถาม :
    ที่ตำราบอกว่าให้พิจารณาเห็นกายในกายนั้นเป็นคำพูดที่เข้าใจได้ยากมาก อาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไร
    ตอบ :
    นั่นก็เป็นคำพูดตามตำรา การเห็นกายก็คือรู้ตัวเมื่อกายมันเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถ เมื่อดิฉันปฏิบัติแล้วก็เห็น รู้ เข้าใจว่า รูป(กาย)เป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ทุกข์อยู่ที่รูป(กาย) ในเมื่อมันเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา แล้วเราจะไปยึดมั่นถือมั่นมันทำไม
  • 10. การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔
    คำถาม :
    การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ (กาย เวทนา จิต ธรรม)นั้น ปฎิบัติไปทีละฐานหรือปฏิบัติพร้อมกันไปทั้ง ๔ ฐาน อยากให้อาจารย์อธิบายว่าเป็นอย่างไร
    ตอบ :
    ตามความเข้าใจของดิฉันเมื่อเจริญสติแบบเคลื่อนไหว โดยให้มีความรู้สึกตัวในทุกอิริยาบถ ทั้งตอนเคลื่อนและตอนหยุดอย่างต่อเนื่อง เรียกว่ามีสติ อันนี้เป็นกายานุปัสสนา สามารถเห็นจิตใจอยู่เสมอและเห็นความคิดได้ทุกครั้งที่มันคิด นี่เป็นจิตตานุปัสสนา เมื่อมีความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่องจนใจเป็นสมาธิ มีความตั้งมั่นบนฐานของสติ จะเห็น รู้ เข้าใจเวทนาไม่สุข ไม่ทุกข์ นี่คือเวทนานุปัสสนา ส่วนธัมมานุปัสสนา คือ เมื่อปฏิบัติไปแล้ว ปัญญาจะเกิดขึ้นในสมาธิที่อยู่บนฐานของมหาสติ เป็นปัญญาล้วนๆที่ไม่ได้มีการพิจารณาเลย เพราะมีญาณของวิปัสสนา เกิดปัญญารอบรู้ จึงสามารถเข้าถึงและเข้าใจธรรมได้ สรุปแล้วการเจริญสติตามแนวหลวงพ่อเทียนจึงครบสติปัฏฐานทั้ง ๔ ไม่ได้แยกปฏิบัติ เป็น กายานุปัสสนา/เวทนานุปัสสนา/จิตตานุปัสสนา/ธัมมานุปัสสนา
  • 9. ปฏิบัติโดยวิธีต่างกัน จะไปถึงจุดหมายเดียวกันใช่หรือไม่
    คำถาม :
    บางท่านเปรียบการปฏิบัติธรรมเหมือนการเดินทางไปยังที่ใดที่หนึ่ง จะไปโดยวิธีใดก็ได้ ในที่สุดก็จะถึงจุดหมายเดียวกัน อาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไร
    ตอบ :
    ดิฉันเข้าใจว่าถ้าวิธีปฏิบัติต่างกันก็จะเห็น รู้ เข้าใจไม่เหมือนกัน เพราะการปฏิบัติธรรมคือการบำเพ็ญทางจิต ถ้าปฏิบัติสมถกรรมฐานจะได้ความสงบ แต่ไม่มีปัญญา เพราะไม่มีอารมณ์วิปัสสนา ถ้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจะมีอารมณ์วิปัสสนา มีปัญญารอบรู้ เราจะพ้นทุกข์ได้ด้วยปัญญาเท่านั้น ถ้าไม่เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงก็พ้นทุกข์ไม่ได้ หลวงพ่อเทียนพูดว่า “ถ้ายังไม่ได้พบสภาวะอาการเกิด-ดับ ถือว่ายังไม่จบ” ดิฉันยังไม่เคยได้ยินคนที่ปฏิบัติวิธีอื่น พูดถึงอารมณ์วิปัสสนาและสภาวะที่ เป็น เหมือนหลวงพ่อเทียน
  • 8. จะเอาวิธีของหลวงพ่อเทียนไปต่อยอดได้หรือไม่
    คำถาม :
    ถ้าเคยปฏิบัติวิธีอื่นมา แล้วอยากจะเอาวิธีของหลวงพ่อเทียนไปต่อยอดจะเป็นไปได้ไหม
    ตอบ :
    จะปฏิบัติวิธีไหนมาก็ตาม ถ้าต้องการเห็น รู้ เข้าใจแบบหลวงพ่อเทียน ก็ต้องเริ่มกันใหม่ตั้งแต่อารมณ์รูป-นามแบบหลวงพ่อเทียน ไม่ใช่อารมณ์รูป-นามแบบที่เคยรู้มา ถ้าของเก่าไม่ใช่ฐานจริงก็ต่อยอดไม่ได้
  • 7. ศาสนาคืออะไร
    คำถาม :
    ทำไมหลวงพ่อจึงบอกว่าศาสนาคือตัวคนทุกคน หมายความว่าอย่างไร
    ตอบ :
    เป็นความเข้าใจจากอารมณ์วิปัสสนาของท่าน เพราะทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา โลกอยู่ที่ตัวเรา พุทธะอยู่ที่ตัวเรา นิพพานอยู่ที่ตัวเรา ดังนั้นศาสนาก็อยู่ที่ตัวเรา ศาสนาหมายถึงตัวเราที่มีสติ สมาธิ ปัญญา
  • 6. ทำไมอารมณ์วิปัสสนาของหลวงพ่อเทียนจึงต่างจากตำรา
    คำถาม :
    อารมณ์วิปัสสนาของหลวงพ่อเทียนทำไมจึงต่างกับตำราที่เริ่มจากญาณที่ ๑ จนถึงญาณ ๑๖
    ตอบ :
    ที่ตำราว่าก็ดีแล้ว แต่ให้เห็นเอง รู้เอง เข้าใจเอง จะเชื่อตัวเอง แล้วจะไม่ถามใครเรื่องนี้อีกเลย
  • 5. การทำลาย โทสะ โมหะ โลภะ
    คำถาม :
    หลวงพ่อบอกว่าเมื่อปฏิบัติตามวิธีนี้แล้ว สามารถทำลาย โทสะ โมหะ โลภะได้ อยากทราบว่าทำลายทีละอย่างหรือพร้อมๆ กัน
    ตอบ :
    ถ้าไม่มีโมหะก็ไม่มีโทสะ โลภะ ถ้าทำลายโมหะได้แล้ว โทสะ โลภะก็ไม่มี เพราะมีสติ ปัญญาเข้าไปแทนที่โมหะ(ความหลง)
  • 4. ศีลที่สามารถทำลายกิเลสอย่างหยาบ
    คำถาม :
    ศีลที่สามารถทำลายกิเลสอย่างหยาบได้ ต่างจากศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ หรือไม่อย่างไร
    ตอบ :
    ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ นั้นเป็นศีลสังคม เป็นข้อห้าม ส่วนศีล ๒๒๗ นั้นเป็นข้อห้ามสำหรับพระภิกษุสงฆ์ แต่ ศีล (ปกติ)ที่ปรากฏนั้น มันเป็นผลมาจากการมีสติ สมาธิ ปัญญา เป็นศีลที่มีเอง เกิดขึ้นเอง เมื่อโทสะ โมหะ โลภะ; กิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม ถูกทำลายจางคลายไป ถูกกำจัดไป
  • 3. การเฝ้าดูความคิด คือสิ่งที่หลวงพ่อเปรียบเทียบเรื่องแมวกับหนูใช่หรือไม่
    คำถาม :
    ที่หลวงพ่อเปรียบเรื่องแมวกับหนู หมายถึงการเฝ้าดูความคิดใช่หรือไม่
    ตอบ :
    แมวไม่ต้องคอยเฝ้าดูหนู แมวอยู่เฉยๆ ถ้าหนูวิ่งมาในระยะที่เห็น-รู้ได้ แมวก็จะกระโดดไปตระครุบหนูทันที การดูความคิดก็เหมือนกัน ไม่ใช่คอยเฝ้าดู แต่ การดูความคิด ตามความหมายของหลวงพ่อเทียน คือ ให้รู้ ให้เห็น เมื่อมันคิด ถ้ามีสติ-ความรู้สึกตัว มันจะเห็นเอง ไม่ต้องคอยเฝ้าดู ถ้าคอยเฝ้าดูก็เหมือนคอยจ้องมัน มันจะไม่คิด นั่นเป็นสมถะแล้ว เราต้องให้ทุกอย่างเป็นไปตามวิถีทางของมัน แล้วเราค่อยจัดการมันด้วยสติ-ความรู้สึกตัว อย่างที่หลวงพ่อเทียนพูดว่า “คิดปุ๊บ ตัดปั๊บ”
  • 2. ทำไมอารมณ์รูป-นามของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน
    คำถาม :
    เมื่อปฏิบัติไป แล้วรู้อารมณ์รูป - นาม ทำไมอารมณ์ รูป - นามของแต่ละคนจึงชัดเจนไม่เหมือนกัน
    ตอบ :
    เพราะว่าจิตใจยังไม่ตั้งมั่นจริง ยังไม่นิ่ง ดังนั้นการเห็น รู้ เข้าใจจึงยังไม่ชัดเจน ไม่ครบถ้วน ในกรณีอย่างนี้อย่าเพิ่งเข้าใจว่าตัวเองผ่านอารมณ์รูป - นามแล้ว ถ้ารู้อารมณ์รูป - นามไม่ชัดเจน จะมีปัญหาภายหลัง
  • 1. จิตเป็นตัวทุกข์หรือไม่
    คำถาม :
    อาจารย์บอกว่าจิตไม่ทุกข์(จิตประภัสสร) แต่ในตำราบอกว่าจิตมีลักษณะเกิด-ดับตลอดเวลา จิตเป็นทุกข์เพราะไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ อยากทราบว่าจริงๆแล้วจิตเป็นทุกข์หรือไม่ อย่างไร
    ตอบ :
    อันนั้นเป็นเรื่องในตำรา เมื่อปฏิบัติแล้วเกิดปัญญา จะเห็น รู้ เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่าทุกข์อยู่ที่กาย ไม่ใช่ที่ใจ แค่รู้อารมณ์รูป-นามก็เห็น รู้ เข้าใจแล้วว่าใจไม่ทุกข์ เมื่อเกิดญาณปัญญารู้แจ้งเห็นจริงแล้ว จะมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ทุกข์ แต่ที่มันทุกข์เพราะไม่มีญาณปัญญา ไม่เข้าใจกระบวนการของความคิด ยังไม่เห็นต้นกำเนิดของความคิด ยังไม่ได้พบสภาวะอาการเกิด-ดับ เมื่ออายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอก เกิดเป็นวิญญาณ รู้ เช่นเป็นจักขุวิญญาณ แล้วเป็นสังขาร แล้วเป็นสัญญา แล้วเสวยเวทนา อย่างนี้เป็นทุกข์ แต่ที่หลวงพ่อเทียนบอกว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ทุกข์ เพราะไม่หลงกาย ไม่ลืมใจ อยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง มันจะเป็นดังนี้ คือ

    วิญญาณ รู้ ตามความเป็นจริง
    สังขาร ไม่ปรุงแต่งอีกแล้ว
    สัญญา เห็น รู้ เข้าใจด้วยปัญญา จึงจำได้ ไม่ลืมอารมณ์วิปัสสนา
    เวทนา เสวยอารมณ์ ไม่ทุกข์


1 2 3 4
ตอนแรกมี๕ ขันธ์ แล้วเหลือ๔ ขันธ์ เหลือ๓ ขันธ์ เหลือ๒ ขันธ์ แล้ว ก็ไม่เหลือสักขันธ์

(หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ)