การปฏิบัติธรรมโดยไม่มีพิธีรีตอง

การทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล และการปฏิบัติสมถกรรมฐานนั้น บางคนทำบุญก็ทำด้วยเจตนาดี แต่บางคนก็ทำบุญโดยหวังผล แสดงว่าพวกนี้กิเลสไม่ได้ลดลงเลย แถมยังมากขึ้นด้วยซ้ำ ส่วนการให้ทานถือว่าช่วยเหลือกัน แบ่งปันกัน มันก็ดีอยู่ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีจิตใจดี มีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ส่วนการรักษาศีล ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ก็ยังถือว่าเป็นแค่ศีลสังคมเท่านั้น ดีสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม ส่วนพระต้องรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ แต่การทำบุญ ให้ทานและรักษาศีลก็ไม่ได้ทำให้จิตใจหมดกิเลส ตัณหา หรือการยึดมั่นถือมั่น ไม่สามารถทำลายโทสะ โมหะ โลภะ

แม้การปฏิบัติสมถกรรมฐานซึ่งปฏิบัติกันมาตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ ก็ได้แค่ความสงบแต่ไม่ได้เกิดปัญญา ไม่ช่วยให้พ้นทุกข์ เพราะการปฏิบัติสมถกรรมฐานได้ความสงบเพียงชั่วคราว ไม่ใช่ความสงบที่แท้จริง เมื่อไม่มีญาณปัญญาจึงไม่เห็น ไม่รู้ ไม่เข้าใจธรรมชาติของจิตใจ และความจริงที่สูงสุดหรือปรมัตถธรรม จึงไม่เกิดความรู้แจ้ง ไปไม่ถึงที่สุดของทุกข์เพราะไปติดความสงบ พระพุทธเจ้าจึงยังต้องแสวงหาความหลุดพ้นด้วยการบำเพ็ญทางจิต เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จึงทรงแนะนำสั่งสอนให้เราเจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างต่อเนื่อง พระพุทธองค์ให้ความสำคัญแก่สติเป็นที่สุด

หลวงพ่อเทียนจึงแนะนำให้เราเจริญสติ ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกาย - ใจอย่างต่อเนื่อง ให้ปฏิบัติโดยไม่ต้องมีพิธีรีตอง ไม่ต้องไปมัวนั่งไหว้พระ สวดมนต์ ให้ทาน รักษาศีลให้เสียเวลา ถ้าอยากปฏิบัติให้ลงมือทำได้เลย หลวงพ่อบอกว่า “ถ้าเป็นนักมวยก็ไม่ต้องเสียเวลาขึ้นไปไหว้ครูบนสังเวียน พอขึ้นไปปั๊บก็ลงมือชกทันที” ท่านบอกว่า “เราไม่ต้องเริ่มต้นด้วยการทำบุญ ให้ทาน รักษาศีลจึงจะปฏิบัติธรรมได้ และไม่ต้องปฏิบัติสมถกรรมฐานมาก่อนจึงจะขึ้นวิปัสสนาได้”

เรื่องนี้ดิฉันเองได้พิสูจน์คำพูดของหลวงพ่อมาแล้วว่าไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเลย ดิฉันไม่เคยเข้าวัด ทำบุญ ให้ทาน หรือรักษาศีลมาก่อน ยิ่งการปฏิบัติสมถกรรมฐานด้วยแล้ว ไม่เคยรู้จักเลย ดิฉันไม่เคยปฏิบัติธรรมมาก่อน เมื่อไปพบหลวงพ่อ ท่านก็ให้ลงมือปฏิบัติเลยโดยไม่มีพิธีรีตองแม้แต่อย่างเดียว ท่านเพียงบอกให้ทำความรู้สึกตัวด้วยการยกมือสร้างจังหวะ ให้มีความรู้สึกตัวมีสติในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยไม่หลับตา ไม่ต้องบริกรรมคำใดๆ ดิฉันก็สามารถเข้าใจอารมณ์รูป - นามหรือเรื่องกายกับใจได้ภายในเวลาเพียง ๑ ชั่วโมงเท่านั้น พิสูจน์ให้เห็นว่าถ้าจะปฏิบัติ ทำที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ป่า ไม่ต้องไปอยู่วัด ทำที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ แต่งตัวอย่างไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปบวชชีนุ่งขาวห่มขาว เราควรสนใจที่แก่นไม่ใช่ที่เปลือกของมัน ถ้าเราเป็นคนจริง เราต้องตั้งใจปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่ทำเล่นๆ ๒ - ๓ ครั้งแล้วก็เลิก เพราะความเกียจคร้าน

การเจริญสติเป็นทางลัด เป็นวิปัสสนาล้วนๆ โดยไม่ต้องปฏิบัติสมถกรรมฐานก่อน การเจริญสติไม่เสียเวลาเลย เนื่องจากหลวงพ่อเคยเสียเวลาปฏิบัติสมถกรรมฐานมาแล้วประมาณ ๓๐ ปี ท่านจึงไม่ต้องการเห็นคนอื่นเสียเวลาอีก ท่านจึงแนะวิธีเจริญสติหรือเจริญวิปัสสนาที่สามารถทำได้ทุกหนทุกแห่งในชีวิตประจำวัน โดยทำความรู้สึกตัวให้มีสติรู้การเคลื่อนไหวของกาย และเห็นความคิดปรุงแต่งทุกครั้งที่มันคิด สติในความหมายของหลวงพ่อเทียนคือ การรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกาย - ใจ คือรู้กาย รู้ใจ ไม่ใช่ระลึกได้หรือจำได้ หลวงพ่อเคยบอกว่า “ถ้าเราไปถามใครว่าเมื่อวานทานข้าวหรือเปล่า คนมันก็ต้องจำได้ซิว่าทานข้าวหรือเปล่า นั่นไม่ใช่สติ”

บางครั้งหลวงพ่อก็พูดไม่ตรงกับตำรา และท่านก็ไม่สนใจคำที่ท่านพูดว่าจะตรงกับตำราหรือไม่ เพราะท่านพูดจากความจริง (ปรมัตถสัจจะ) ที่ท่านเห็น รู้ สัมผัสได้ด้วยญาณปัญญา บางคำท่านก็บัญญัติขึ้นมาเองตามความเข้าใจของท่าน เช่น ขันธ์ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ ขันธ์ของท่านแปลว่าสิ่งรองรับ หมวด กลุ่ม กอง หรือแปลว่าสิ่งรองรับศีล สมาธิ ปัญญา ท่านอธิบายว่า ถ้าขัน(ธ์)ดีก็ใส่ข้าวใส่น้ำได้ มันไม่รั่ว อันนี้คนฟังอาจไม่เข้าใจ ถ้าจะพูดให้ตื้นขึ้นมาอีกนิดหนึ่งว่า จิตใจที่ถูกฝึกฝนมาดีแล้วย่อม มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา คงจะพอเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ต้องปฏิบัติจนความยึดมั่นถือมั่นจางคลายไป ศีลจึงปรากฏ ซึ่งหมายถึงมีจิตใจปกติ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของคำศัพท์ที่หลวงพ่อใช้

อีกคำหนึ่งที่คนไม่เข้าใจคืออาการเกิด-ดับ มันเป็นอาการปรมัตถ์ ที่หลวงพ่อได้พบ ได้เห็น ท่านไม่เรียกความคิดแต่ละครั้งว่า เกิด - ดับ, เกิด - ดับเพราะเกิด - ดับ อย่างนั้น วันหนึ่งๆ มีเป็นร้อยครั้ง ท่านเรียกความคิดอย่างนั้นว่า มันคิด มันหายไป หรือมันหยุดลง ท่านไม่เรียกอย่างสมมติว่า เกิด - ดับแต่ อาการเกิด - ดับ ท่านเรียกอย่างปรมัตถ์ หลวงพ่อบอกว่า “อย่าเอาของสูงมาพูดเป็นของต่ำ อย่าเอาของต่ำมาพูดเป็นของสูง” เพราะอาการเกิด - ดับ เป็นสภาวธรรม เมื่อพบอาการเกิด - ดับแล้ว มันคือการต่างเก่าล่วงภาวะเดิม มันเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่คนเดิมอีกแล้ว เนื่องจากมีสติ - ปัญญาที่ว่องไว จึงสามารถทำลายความคิดปรุงแต่งได้ที่ต้นตอของมัน อายตนะภายนอกและอายตนะภายในติดต่อกันไม่ได้อีกต่อไป ไม่มีอาสวกิเลสอีกแล้ว อวิชชาถูกทำลายไม่มีเหลือ ผู้ปฏิบัติธรรมจนพบอาการเกิด - ดับจะเรียกสภาวธรรมที่ตัวเองพบ เห็น สัมผัส อย่างปรมัตถ์ (ไม่ใช่อย่างสมมติ) เพราะไม่สามารถจะเรียกเป็นอย่างอื่นหรือคำอื่นได้ และจะไม่เรียกอย่างสมมติด้วย

คนที่ปฏิบัติวิธีต่างกันก็จะรู้ต่างกัน ถ้าปฏิบัติตามเทคนิคและวิธีของหลวงพ่อเทียนก็จะรู้ตาม เห็นตามหลวงพ่อเทียน แต่ถ้าปฏิบัติต่างกัน กลวิธีต่างกัน เทคนิคต่างกัน ก็จะเห็นรู้ เข้าใจต่างกัน คำศัพท์ที่หลวงพ่อใช้เป็นภาษาเฉพาะตัวของท่าน หลวงพ่อไม่ได้พูดตามตำรา ท่านพูดตามประสบการณ์ จนมีลูกศิษย์บางคนพูดด้วยอารมณ์ขันว่า หลวงพ่อทำภาษาวิบัติหมด แต่พวกเราก็เข้าใจท่าน และเข้าใจความหมายของท่านเมื่อเราปฏิบัติแล้วเราเห็น รู้ เข้าใจตามท่าน เนื่องจากหลวงพ่อไม่ได้เรียนหนังสือ ท่านรู้คำศัพท์ภาษาไทยน้อยมาก ท่านจึงใช้ภาษาสดๆ จากใจของท่าน เรียกสิ่งเหล่านั้นตามความเข้าใจของท่าน ท่านไม่อ้างตำราเลย และไม่ชอบให้ลูกศิษย์ติดตำราหรือเอาตำรามาอ้าง ท่านให้วางตำราให้หมด ท่านถามว่า “เมื่อเราเกิดมาจำความได้แล้ว พ่อแม่พูดอะไรกับเราคำแรก ประโยคแรก เราจำได้ไหม เรายังจำไม่ได้เลย แล้วเราจะไปติดตำราที่เขียนขึ้นหลังจากที่พระพุทธองค์ดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วตั้งหลายร้อยปีได้อย่างไร” ท่านต้องการให้เราปฏิบัติให้เห็นเอง รู้เอง เข้าใจเอง ไม่ต้องติดตำรา ถ้าเข้าใจธรรมแล้วก็จะอ่านตำรารู้เรื่อง

หลังจากที่หลวงพ่อบรรลุธรรมแล้ว ท่านได้เปิดอบรมสั่งสอนญาติพี่น้องและภรรยาของท่านอยู่ประมาณ ๒ ปี ๘ เดือน จนกระทั่งภรรยาและญาติพี่น้องของท่านรู้ธรรม ท่านจึงไปบวชอีกครั้งเพราะเห็นว่าคนส่วนมากเชื่อถือพระสงฆ์ เชื่อถือผู้มีชื่อเสียง แต่หลวงพ่อไปสอน พูดความจริงให้ฟังก็ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครฟัง ท่านจึงต้องอาศัยความเป็นพระสงฆ์ไปสอนไปเผยแพร่ธรรมะ และสัจจธรรมที่ท่านพบและประสบมาด้วยตัวท่านเอง มาบอกมาสอนพวกเราว่ามันไม่ใช่เรื่องยาก มันมีวิธีง่ายๆ โดยไม่ต้องไปเสียเวลาปฏิบัติสมถกรรมฐาน เราสามารถปฏิบัติวิปัสสนาได้เลย ด้วยความเมตตาของท่าน หลวงพ่อได้ไปบวชอีกครั้งหนึ่ง และเป็นที่รู้จักกันในนามหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เมื่อท่านไปพูดอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น เพราะคนไม่เคยได้ยินได้ฟังการพูดอย่างนี้มาก่อน ช่วง ๒๐ ปีแรกที่ท่านบวช ท่านถูกกล่าวหาอย่างรุนแรงว่าเป็นคอมมิวนิสต์ บางครั้งก็กล่าวหาว่าท่านเพี้ยนเพราะพูดจาประหลาด แต่ท่านก็ไม่สนใจ ท่านพูดตามอุดมการณ์ของท่าน คนฟังโดยเฉพาะพระสงฆ์บางรูปรับไม่ได้ในสิ่งที่ท่านพูด หลวงพ่อมีอุดมการณ์ที่มั่นคง ท่านไม่เคยกลัวที่จะพูดความจริง ผู้รู้อย่างท่านหายาก ท่านเชื่อมั่นในประสบการณ์ของท่านอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยตลอดเวลา ๓๑ ปี ท่านยืนหยัดในสิ่งที่ท่านรู้แจ้งเห็นจริง

หลวงพ่อเทียนบรรลุธรรมเพราะการทำความรู้สึกตัว ท่านจึงสอนให้เราทำความรู้สึกตัวให้ต่อเนื่อง ให้มีสติที่ว่องไว เพื่อจะได้ทวนกระแสความคิดไปจนพบต้นกำเนิดของความคิดปรุงแต่ง เพราะมันเป็นต้นตอของความทุกข์ หลวงพ่อเองก็ได้ทวนกระแสความคิดปรุงแต่งมาแล้ว ท่านได้ใช้เวลาเพียง ๒ - ๓ วันเท่านั้นท่านก็ทวนไปถึงต้นกำเนิดของความคิดได้ และได้พบกับสภาวะอาการเกิด - ดับ เมื่อก่อนมีหลวงพ่อเทียนองค์เดียวเท่านั้นที่สอนเรื่องความรู้สึกตัว เรื่องดูความคิด คือ ให้เห็นมันและให้รู้จักมัน (ไม่ใช่คอยจ้องดู) ท่านบอกว่า “ถ้าไม่รู้จักมัน จะสู้กับมันได้อย่างไร จะเอาชนะมันได้อย่างไร” ท่านให้เจริญสติเพื่อทวนกระแสความคิดจนได้พบอาการเกิด - ดับ นี่คือสิ่งที่หลวงพ่อต้องการเห็น ต้องการให้ทุกคนไปถึงจุดนั้น ท่านมุ่งมั่นในการสอนโดยไม่เคยห่วงตัวเองเลย ถึงแม้จะป่วยท่านก็ไม่เคยหยุดสอน จนกระทั่งท่านป่วยหนักและสอนไม่ไหวจริงๆ เนื่องจากท่านอยากให้ทุกคน รู้ เห็น เป็น มี อย่างท่าน

หลวงพ่อสอนการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวซึ่งเป็นวิธีที่ท่านเคยปฏิบัติมาก่อน อาจารย์ให้ท่านทำการเคลื่อนไหวให้รู้สึกตัวและให้บริกรรม ติง - นิ่ง (ติง แปลว่า เคลื่อนหรือไหว นิ่ง แปลว่า หยุด) แต่หลวงพ่อไม่บริกรรม เพราะท่านเห็นว่าท่านเคยปฏิบัติมาแล้วหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพุทโธ, สัมมาอรหัง, ตาย, นับ ๑ - ๒ - ๓, พอง - ยุบ, และอานาปานสติ ท่านเคยปฏิบัติมาหมดแล้ว ท่านบอกว่านั่นล้วนเป็นสมถกรรมฐานทั้งสิ้น ท่านเคยเพ่ง เคยจ้อง เคยกำหนดมาแล้ว ท่านเลยทำการเคลื่อนไหวให้รู้สึกตัวอย่างเดียว โดยไม่เพ่ง ไม่จ้อง ไม่กำหนด ไม่หลับตา และไม่บริกรรมคำใดๆ ทั้งสิ้น ท่านหลีกเลี่ยงทุกอย่างที่เป็นสมถกรรมฐาน จึงเหลือแต่ทำความรู้สึกตัวล้วนๆ เมื่อท่านจะสอนท่านจึงคิดวิธีให้ทำความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการยกมือสร้างจังหวะ การยกมือไม่ใช่เรื่องบ้าๆ บอๆ อย่างที่บางคนพูดจาดูถูกหลวงพ่อ แต่เมื่อพวกคุณปฏิบัติแล้ว คุณจะพบว่ามันมีประโยชน์มหาศาลอย่างที่คิดไม่ถึง นี่เป็นการฝึกให้รู้จักความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง เวลาเราเคลื่อนไหวเราก็จะรู้สึกตัว เราทำอะไรเราก็จะรู้สึกตัว เมื่อก่อนเราเคลื่อนไหวเราไม่เคยรู้สึกตัวเลย เราไม่เคยมีสติ เราเกิดมาตั้งหลายสิบปีแต่ไม่เคยรู้จักความรู้สึกตัวเลย

หลวงพ่อได้คิดวิธีนี้เพื่อให้เราเอามาฝึกให้รู้จักว่าความรู้สึกตัวเป็นอย่างไร ท่านให้ทำการเคลื่อนไหว ๑๕ จังหวะ เพื่อให้มีการเปลี่ยนท่าบ่อยๆ ด้วยการพลิกมือ คว่ำมือ ยกมือขึ้น เอามือลง เคลื่อนมือไป เอามือมา ให้เป็นจังหวะ โดยมีจังหวะเคลื่อน จังหวะหยุด แต่เราไม่จำเป็นต้องยกมือสร้างจังหวะทุกหนทุกแห่งที่เราไป เมื่อเรารู้ว่าความรู้สึกตัวเป็นอย่างไรแล้ว เราก็สามารถทำอย่างต่อเนื่องได้ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะยืนเดิน นั่ง นอน ทำการทำงานเราจะมีความรู้สึกตัวและเราสามารถทำให้มันต่อเนื่องได้ การเจริญสติต้องทำให้ต่อเนื่อง มิฉะนั้นก็ไม่มีประโยชน์ การฝึกเจริญสติต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้มีความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะความต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อมันคิดเราจะได้รู้มัน เห็นมันทุกครั้ง เนื่องจากเรามีสติเราจึงเห็นมัน เมื่อเราไปนอกบ้านเราก็ปฏิบัติได้ เช่น กระพริบตา กระดิกเท้า คลึงนิ้วมือ เราสามารถปฏิบัติได้ตลอดเวลาทุกหนทุกแห่ง เมื่อเราต้องทำงานและต้องใช้ความคิด เราก็จะมีสติเพราะเราฝึกมา เราจะมีสติในการงานที่เราทำ เราจะเห็นจิตเห็นใจที่มันนึกมันคิด ความหลง (โมหะ) ก็จะไม่มี การเจริญสตินี้ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ความรู้สึกตัวหรือสติเพียงอย่างเดียวเท่านั้นจะนำเราไปถึงที่สุดของทุกข์ได้ โดยไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยากซับซ้อนเลย

เนื่องจากหลวงพ่อเป็นผู้รู้จริง ท่านจึงสอนเรื่องที่คนเข้าใจว่ายากให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย เรื่องที่คนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ก็กลายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ท่านยกตัวอย่างหรืออุปมาให้เราเห็นได้ เข้าใจได้ง่ายๆ เนื่องจากท่านพูดจากประสบการณ์ของผู้รู้จริง ท่านจึงยกตัวอย่างให้เราเห็นด้วยวิธีง่ายๆ ของท่าน ท่านทำให้ทุกอย่างกลายเป็นของง่ายไปหมด ด้วยเทคนิคง่ายๆ ของท่านที่ทุกคนปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร เชื้อชาติใด เด็ก ผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ปฏิบัติได้หมด ถ้าเราเชื่อท่านและลองปฏิบัติตามที่ท่านแนะนำ เราก็จะรู้ตามเห็นตามท่าน แต่เราต้องปฏิบัติให้ถูกตามเทคนิคและวิธีของท่านทั้งหมด อย่าเผลอไปเพ่งหรือจ้องการเคลื่อนไหว อย่าเอาวิธีอื่นมาปนกันเป็นอันขาด ถ้าทำผิดวิธีและเทคนิคมันก็จะแฉลบออกนอกทางไปเลย เพราะจิตหรือใจมันไวมาก มีผู้ปฏิบัติจำนวนมากเข้าใจอารมณ์รูป - นามและเห็นความคิดของตนเองทำให้ความทุกข์ลดลงมาก

การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวเป็นการเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ

  1. การมีสติและความรู้สึกตัวในทุกการเคลื่อนไหวของกายอย่างต่อ เนื่อง โดยวิธียกมือสร้างจังหวะ หรือเดินจงกรมอย่างมีสติ รู้สึกตัว นี่คือ กายานุปัสสนา
  2. เมื่อมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกาย - ใจ บนฐานของมหาสติ ผู้ปฏิบัติจะเห็น รู้ เข้าใจ สัมผัสได้กับเวทนาไม่สุข ไม่ทุกข์ (อุเบกขาเวทนา) นี่คือ เวทนานุปัสสนา
  3. เมื่อมีสติ รู้สึกตัวในการเคลื่อนไหวของกายจนสติว่องไวแล้ว จะสามารถเห็นจิตใจที่มันนึกมันคิดทุกครั้ง นี่คือ จิตตานุปัสสนา
  4. เมื่อมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกาย - ใจอย่างต่อเนื่องจนเป็นมหาสติ ใจจะเป็นสมาธิของมันเอง ปัญญาจะเกิดขึ้น เองในสภาวะจิตนี้ (สมาธิ) จะเห็น รู้ เข้าใจ สัมผัสได้เรื่องชีวิตจิตใจ เรื่องกฏของธรรมชาติตามความเป็นจริง นี่คือ ธัมมานุปัสสนา